โครงการพัฒนาระบบทำนายปริมาณการใช้เพื่อการบริหารการจัดการสินค้าคงคลังสำหรับโรงพยาบาลโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเครือข่าย 5G
โครงการนี้เป็นโครงการที่นำศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ในแง่ของการพัฒนาระบบการพยากรณ์และระบบการจัดการสินค้าคงคลังให้ดีขึ้น ร่วมกับใช้ศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Science) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองหรือสมการจำเพาะกับสินค้าแต่ละชนิด โดยใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และโลจิสติกส์ เพื่อเป็นกลไกให้ระบบ AI ทำงาน ช่วยในการพยากรณ์ปริมาณความต้องการของสินค้าให้แม่นยำมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารสินค้าคงคลัง ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ รวมถึงการพิจารณาและนำข้อมูลการพยากรณ์ (ข้อมูลการเบิก) จากระบบ AI มาพัฒนาโมเดลการขนส่งร่วมกับรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดตารางการขนส่งยาให้กับห้องยาภายในโรงพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลาและแม่นยำมากที่สุด
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ
- โรงพยาบาลมีระบบ AI ที่เข้ามาช่วยในการพยากรณ์ปริมาณความต้องการของสินค้าและปริมาณการสั่งซื้อให้แม่นยำมากขึ้น โรงพยาบาลไม่ต้องเก็บสต็อกไว้ในปริมาณที่มากเกินความต้องการ โดยระบบที่พัฒนาสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลต่างๆในโรงพยาบาล และเภสัชกรสามารถใช้งานระบบได้สะดวกมากขึ้น
- ระบบแพลตฟอร์ตขนส่ง (TMS) ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบ SAP ผ่านระบบ QR code รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบ Neolix รถยนต์ไร้คนขับ Unmanned Car โดยระบบจะคำนวณรอบและตารางการขนส่งที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขในการขนส่ง ระยะเวลา กระบวนการต่างๆที่จะเกิดขึ้น ด้วยต้นทุนการขนส่งที่ต่ำที่สุด ซึ่งระบบนี้จะเข้ามาแทนที่กระบวนการขนส่งด้วยรถกอล์ฟและการใช้คนในการกำหนดรอบการขนส่ง ซึ่งในบางครั้งอาจจะเกิดความผิดพลาด การรอคอยของสินค้าได้ รวมไปถึงมีต้นทุนในการขนส่งที่สูง
- โรงพยาบาลมีต้นทุนสินค้าคงคลังของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ลดลง และมีการพยากรณ์ปริมาณการใช้ยาที่แม่นยำขึ้น
ผลลัพธ์จากโครงการ
- สามารถลดต้นทุนถือครองสินค้าคงคลัง (Inventory Holding Cost) ร้อยละ 50 และสามารถลดจำนวนวันที่สินค้าเพียงพอใช้ รวมถึงเพิ่มระดับความปลอดภัยของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก
- สามารถลดระดับจุดสั่งซื้อใหม่ (ROP) จากห้องยา-คลังยา ร้อยละ 27
- ช่วยทำให้การรักษาและการบริการของผู้ป่วยหรือประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โรงพยาบาลมียาและเวชภัณฑ์ทุกประเภทอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ผู้ป่วยได้รับยาและเวชภัณฑ์อย่างทันท่วงที คุณภาพการรักษาของแพทย์และพยาบาลแม่นยำมากขึ้น ทำให้ระดับความปลอดภัยของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
ตัวชี้วัดโครงการ
- ต้นทุนสินค้าคงกลังของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ลดลง
- มีการพยากรณ์ปริมาณการใช้ยาที่แม่นยำขึ้น
- ระบบ AI ที่ใช้ทำนายปริมาณการใช้ยาระหว่างห้องยาและคลังยา
- แอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้งานระบบสำหรับเภสัชกรผู้จัดซื้อยาและบริการ
- โมเดลการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เพื่อทำนายปริมาณการใช้ยาและเวชภัณฑ์
- ระบบประมวลผลและแสดงผลให้กับผู้บริหารของโรงพยาบาลและหัวหน้างานบริหาร
ปัจจัยความสำเร็จ
- ความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงานในการให้ข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็น และความตระหนักถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้
- ผู้บริหารให้การสนับสนุนทรัพยากรในด้านต่างๆ ได้แก่ คน เวลา เงิน เพื่อสนับสนุนให้เกิดเป็นโครงการและทำให้บรรลุวัตถุประสงค์
แผนการดำเนินงานในอนาคต
สำหรับโครงการต่อยอดในระยะที่ 2 ทางทีมวิจัยได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายผลต่อจากโครงการในครั้งนี้ เป็น 2 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการที่ 1 พัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการการขนส่งสำหรับโรงพยาบาลรองรับการเชื่อมโยงกับยานยนต์ไร้คนขับระบบ 5G เนื่องจากความต้องการในการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับมีมากกว่าการส่งยา เช่น การส่งเวชภัณฑ์ หรือ อุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงการรับส่งในแนวดิ่งที่จะทำให้การขนส่งครบวงจรมากขึ้น และมากไปกว่านั้นคือทำให้แพลตฟอร์ตสามารถต่อยอดและขยายผลระบบสู่โรงพยาบาลเครือข่ายและโรงพยาบาลอื่นๆ (Universal Transportation Management System Platform as a Solution for Hospital) และโครงการที่ 2 ศึกษาและพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มคลังกลางของโรงพยาบาลและระบบโลจิสติกส์สำหรับผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ เป็นระบบที่เอื้อกับคลังกลางเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และเชื่อมต่อเข้ากับระบบขนส่ง (TMS) (รองรับการต่อยอดจากระยะที่ 1 ผนวกรวมกับโครงการที่ 1) โดยจะเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะสำหรับคลังสินค้ากลางในโรงพยาบาลทั่วไปสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการการรวมศูนย์คลังภายในโรงพยาบาลและเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่ได้ และแพลตฟอร์มอัจฉริยะสำหรับศูนย์กระจายสินค้าของระดับคลังในเครือข่ายโรงพยาบาล และรวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอัจฉริยะ ทั้ง 2 โครงการนี้ จำเป็นอย่างยิ่งในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเข้ามาช่วยให้เกิดการส่งข้อมูลการเบิก (Transaction) ต่อวัน อุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติต่างๆที่ใช้ในคลังสินค้า ซึ่งการใช้งานลักษณะนี้ตอบสนองความต้องการการส่งและรับข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถรองรับข้อมูลที่หลากหลายและมีปริมาณข้อมูลเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงช่วยในเรื่องของการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมากและมีความหน่วงเวลาต่ำ (Latency)