11-07-2023

โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุสู่ระบบสาธารณสุข

จากสถานการณ์ Aged Society ของประเทศไทย ในปี 2564 จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี อยู่มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่ามีประชากรผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน และมีคาดการณ์ว่าการจำนวนตัวเลขประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 20 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทยในอนาคตจะเป็นผู้สูงอายุ และมีประชากรที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปมากถึง 3.5 ล้านคน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุ คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง การเคลื่อนย้าย ผู้สูงอายุไปยังโรงพยาบาลและโมเดลตัวอย่างจากแนวปฏิบัติของต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบขนส่งสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย พบว่ามีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและระบบแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุในการขนส่ง การเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุไปยังโรงพยาบาล โดยได้แนวคิดและบทปฏิบัติจากกรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการด้านโลจิสติกส์ที่สามารถรองรับผู้สูงอายุ เช่น ระบบการเดินทางที่สะดวกและร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนา Mobility as a Service (MaaS) ซึ่งเป็นระบบบริการในการเดินทางที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะเพื่อผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทาง การจองล่วงหน้า รวมไปถึงการจ่ายค่าโดยสารในการเดินทาง เพื่อมีความสะดวกสบายดีขึ้น  หรือในประเทศอังกฤษ มีการพัฒนาและอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุในด้านการขนส่งคือ การเพิ่มอำนาจในท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลางเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในด้านการพัฒนาและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้มากขึ้น เพื่อการขนส่งสาธารณะมีความปลอดภัย การเข้าถึงได้ และจากการทบทวนวรรณกรรมในแง่ของเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบการให้บริการด้านการขนส่งและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุข้างต้น พบว่าในต่างประเทศมีระบบและแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการให้บริการด้านการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุอยู่หลากหลาย จากการสำรวจเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า ระบบการให้บริการที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สุดท้าย (End user) ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ระบบที่พัฒนาขึ้นจึงจำเป็นต้องมีความแตกต่างจากระบบให้บริการแบบเดิมที่มีอยู่ จำเป็นต้องมีการคำนึงถึงในด้านความสามารถและการยอมรับการใช้งานเทคโนโลยีโดยผู้สูงอายุ การเตรียมทรัพยากรสำคัญในการบริการผู้สูงอายุ ให้ตัวผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ Door-to-Door service การเดินทางตั้งแต่หน้าประตูบ้านไปถึงปลายทางที่ต้องการ  ข้อมูลที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมจะนำไปเป็นข้อมูลตั้งต้น เพื่อการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาระบบ

นอกจากนั้นคณะผู้วิจัยได้สำรวจรูปแบบการขนส่งสำหรับผู้สูงอายุทั้งรูปแบบการให้บริการของเอกชน และศูนย์นเรนทร เพื่อทราบถึงรูปแบบปัจจุบัน ปัญหา อุปสรรค และการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล และระบบในการให้บริการผู้สูงอายุในปัจจุบัน และทำการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ได้แก่ กรุงเทพธนาคม  Go MAMMA Joyride และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ-สพฉ.1669 เป็นต้น รวมไปถึงพิจารณาความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่ผู้ให้บริการการขนส่งผู้สูงอายุที่ใช้งานอยู่ว่ามีประสิทธิภาพพร้อมในการเชื่อมต่อกับระบบแพลตฟอร์ม จากการสำรวจพบว่าส่วนมากผู้ใช้บริการจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และโดยมากมีความต้องการเดินทางเพื่อไปโรงพยาบาล และในการใช้บริการส่วนใหญ่จะใช้วิธีการโทรศัพท์หรือผ่านช่องทาง Line เพื่อทำการจองนัดหมาย ยังไม่มีระบบแอฟพลิเคชันรองรับ และเมื่อทำการสำรวจความพร้อมและความต้องการของฝั่งผู้ให้บริการ และทำการสำรวจความต้องการของผู้ใช้บริการรวมถึงสัมภาษณ์กับกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ (Baby boomers) และผู้ที่กำลังเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ (Gen X) สัมภาษณ์ถึงความต้องการการรับส่งไปโรงพยาบาล และปัญหาอุปสรรคที่พบ (Needs/Pain point) พบว่าปัจจุบันพบปัญหาในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากผู้สูงอายุบางส่วนอาศัยอยู่กับลูกหลาน ในการไปโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่าง ๆจำเป็นต้องให้ลูกหลานพาไป แต่ในบางครั้งลูกหลานอาจจะติดธุระและไม่สะดวก หรืออยู่กันตามลำพัง ซึ่งการเดินทางไปข้างนอกยังถือว่าเป็นอุปสรรค และกลุ่มที่เคยใช้บริการของหน่วยงานอื่น ๆ พบปัญหาเรื่องจำนวนรถที่บริการไม่เพียงพอ ใช้ระยะเวลาหลายวันในการจองการใช้บริการ ช่วงเวลาใช้บริการที่เลือกไม่ตรงต่อความต้องการ เป็นต้น  โดยกลุ่มตัวอย่างของผู้สูงอายุ อยากให้ให้มีแอปพลิเคชัน เพื่อเข้ามาสนับสนุนการใช้บริการสำหรับผู้สูงอายุ และต้องการให้มีการบริการที่ครอบคลุม

เมื่อได้ข้อมูลที่จำเป็นจากนั้นผู้พัฒนาได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผลในการออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเป็นระบบขนส่งการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการสู่ระบบสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการโดยมีรายละเอียดของการพัฒนาระบบฯ ดังนี้ ระบบฯ หรือ แอปพลิเคชันได้ถูกออกแบบให้มีองค์ประกอบในการดำเนินงานด้วยกัน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1) เว็บแอปพลิเคชันสำหรับหน่วยงาน  ผู้ให้บริการ

2) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานขับรถที่อยู่ในสังกัดหน่วยงาน

3) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับผู้โดยสาร

และทั้ง 3 องค์ประกอบของแอปพลิเคชัน มีรายละเอียดการดำเนินงานดังนี้

1) เว็บแอปพลิเคชันสำหรับหน่วยงานผู้ให้บริการ จะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ ได้แก่ จัดการรถที่ให้บริการ จัดการพนักงานขับรถ จัดการการสร้างละติดตามทริปการรับส่ง ส่วนประเภทของกลุ่มผู้ใช้งานคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการรถสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, ศูนย์นเรนทร, โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น

2) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานขับรถที่อยู่ในสังกัดหน่วยงาน จะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการในเรื่องของการใช้รับงานและปิดงานโดยทำการรับงานปิดงานผ่านโทรศัพท์มือถือ ประเภทของกลุ่มผู้ใช้งาน คือ พนักงานของผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการรถสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น พนักงานขับรถของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, ศูนย์นเรนทร, โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น

3) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับผู้โดยสาร จะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ การสร้างทริปเพื่อร้องขอบริการ ติดตามตำแหน่งรถที่ให้บริการ ให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ใช้งานระบบ ฯ ประเภทของกลุ่มผู้ใช้งาน คือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ญาติหรือผู้ดูแล เป็นต้น

Researcher
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ
Agency
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข่าวที่คุณอาจสนใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า