20-07-2023

โครงการการพัฒนาแนวทางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพเพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขสำหรับภูมิภาคอาเซียน

ตามกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (Association of South East Asian Nation: ASEAN) ทั้ง 10 ประเทศ

ได้มีการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (ASEAN Economic Community-AEC) และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่หลายๆประเทศในภูมิภาค ได้ส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อรองรับ AEC ก็คือ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ(Special Economic Zone)”ตามพื้นที่เขตชายแดนระหว่างประเทศรวมไปถึงการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์สุขภาพของภูมิภาค ทำให้มีการดึงดูดการลงทุนและการใช้บริการต่างๆ ในประเทศเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นแต่ยังมีบางประเทศไม่ว่าจะเป็น เมียนมา ลาว และ กัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้ยังขาดความพร้อมหลายๆ ด้านในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

โครงการวิจัยนี้ศึกษาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน และเสนอการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขไทยให้รองรับบริบทภูมิภาค อีกทั้งเสนอการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียนให้สนองต่อนโยบายประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC)  ซึ่งเป็นรากฐานของความร่วมมือและการยกระดับระบบสาธารณสุขในภูมิภาคร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการ ได้แก่     1) เพื่อศึกษาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน 2) เพื่อเสนอโมเดลการเชื่อมโยงระบบ    โลจิสติกส์สาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดช่องว่างการพัฒนารวมถึงบทบาทของประเทศไทยเพื่อสนองต่อนโยบายประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC)

โดยเลือกเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 5 แห่ง ที่มีเขตชายแดนที่ติดกับเมียนมาลาว และกัมพูชา และมีความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลคู่แฝด(Twin hospitals) ประกอบด้วยจังหวัด ดังต่อไปนี้.

  1. จังหวัดเชียงราย (สสจ.เชียงราย, รพ.แม่สาย,รพ.เชียงของ) ติดกับ ประเทศเมียนมา (รพ.ท่าขี้เหล็ก) และประเทศลาว (รพ.บ่อแก้ว)
  2. จังหวัดกาญจนบุรี (สสจ.กาญจนบุรี) ติดกับ ประเทศเมียนมา
  3. จังหวัดหนองคาย (สสจ.หนองคาย, รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ) ติดกับ ประเทศลาว (รพ.โพนโฮง)
  4. จังหวัดสระแก้ว (สสจ.สระแก้ว, รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว) ติดกับ ประเทศกัมพูชา (รพ.มงคลบุรี)
  5. จังหวัดตราด (สสจ.ตราด,รพ.คลองใหญ่) ติดกับ ประเทศกัมพูชา (รพ.เกาะกง)

และมุ่งเน้นการศึกษาโซ่อุปทานของการไหล 4 ด้าน คือ การไหลของทรัพยากรมนุษย์ (People) ทางการแพทย์การไหลของวัสดุ (Materials) การไหลของข้อมูล (Information) และการไหลด้านเงิน (Financial) โดยแบ่งวิธีการศึกษาออกเป็นสองวิธีใหญ่ๆ คือ วิธีแรกการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative) การลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาลในฝั่งไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของโรงพยาบาลคู่แฝดและกำหนดปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น วิธีที่สองการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative) ได้ทำการพัฒนาแบบสอบถามส่งให้ผู้เชี่ยวชาญ และทำการพัฒนาแบบจำลองในการพยากรณ์เพื่อกำหนดแนวโน้มการพัฒนาสาขาสุขภาพและลดช่องว่างการพัฒนารวมถึงบทบาทของประเทศไทยเพื่อสนองต่อนโยบายประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) โดยผลสรุปการศึกษาแบ่งเป็นดังนี้

1. การไหลของทรัพยากรมนุษย์ (People)

การไหลของทรัพยากรมนุษย์ในการศึกษาครั้งนี้จะพูดถึงผู้รับบริการสุขภาพเข้ามายังประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจ ในปีพ.ศ.2566 และ พ.ศ.2568 ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ที่มารับบริการสุขภาพ ส่วนใหญ่จะเกิดจากแนวโน้มที่มาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรตามปกติ และการเพิ่มขึ้นจากจำนวนแรงงานที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นๆ โดยมีผลการศึกษาดังนี้

1.1 เขตเศรษฐกิจจังหวัดจังหวัดกาญจนบุรีประกอบอำเภอเมืองกาญจนบุรีจากเดิมมีจำนวนประชากรรวม 882,146 คน ในปีพ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นเป็น 916,801 คน ในพ.ศ.2568 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.93

1.2 เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายประกอบด้วยอำเถอเชียงแสน เชียงของและแม่สาย จากเดิมมีประชากรรวม 136,565 คน ในปี พ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นเป็น 185,093 คน ในพ.ศ 2568 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.53

1.3 เขตเศรษฐกิจจังหวัดหนองคายประกอบไปด้วยอำเภอโพนพิสัย ศรีเชียงใหม่ และท่าบ่อ จากเดิมมีจำนวนประชากรรวม 180,414 คน ในปีพ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นเป็น 199,775 คนใน พ.ศ 2568 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.73

1.4 เขตเศรษฐกิจจังหวัดสระแก้วประกอบด้วยอำเภออรัญประเทศและวัฒนานคร จากเดิมมีจำนวนประชากรรวม 146,832ในปี พ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นเป็น 179,964 คนใน พ.ศ2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.38

1.5 เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราดประด้วยอำเภอคลองใหญ่ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรรวมมากที่สุด จาก 14,813 คน ในปีพ.ศ.2558 เพิ่มขึ้นเป็น 31,525 คน ในพ.ศ 2566 หรือ 1 เท่าจากประชากรปัจจุบัน

2. การไหลของวัสดุ (Materials)

การไหลของวัสดุ ได้แก่ การไหลของยาและเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันด้วยข้อจำกัดทางด้านกฏระเบียบขององค์กรอาหารและยาแต่ละประเทศ และในอาเซียนเองไม่มีการขึ้นทะเทียนยาร่วมกัน (ASEAN Harmonization) ทำให้ยังไม่มีการไหลของยาและเวชภัณฑ์ระหว่างโรงพยาบาลคู่แฝดมากนัก แต่จะมีการช่วยเหลือยาและเวชภัณฑ์เป็นครั้งคราวกรณีพิเศษ เช่น การเกิดโรคระบาดและความต้องการยาและเวชภัณฑ์เร่งด่วน เป็นต้น นอกจากนี้งบประมาณด้านยาและเวชภัณฑ์เป็นของแต่ละประเทศ ทำให้การช่วยเหลือจะเป็นการเพิ่มต้นทุนของประเทศผู้ให้ ความช่วยเหลือจึงอยู่ในรูปแบบการให้ความรู้ ความเข้าใจ และการพัฒนาบุคลากรมากกว่าและในอนาคตถ้ามีการตกลงเรื่องการขึ้นทะเบียนยาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างประเทศในอาเซียน การไหลของยาและเวชภัณฑ์ระหว่างโรงพยาบาลคู่แฝดจะเป็นไปอย่างคล่องตัวทำให้คุณภาพ ปริมาณ การตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมไปถึงการสั่งซื้อยาสามารถทำได้โดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นแบบระบบ EDI เพื่อเพิ่มความถูกต้อง รวดเร็ว และการรับยานั้นก็ทำได้อย่างรวดเร็วโดยใช้อุปกรณ์เสริม เช่น การใช้ระบบบาร์โค้ดและ RFID และส่งผลทำให้การดูแลสินค้าคงคลังทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีส่วนช่วยให้การตัดสินใจและพยากรณ์จำนวนยาและเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การไหลของข้อมูล (Information)

การไหลของข้อมูล ในปัจจุบันการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยพบว่าการเชื่องโยงของข้อมูลระหว่างฝั่งไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน มีการเชื่อมโยงของข้อมูลกันน้อยมาก การส่งต่อผู้ป่วยมีในรูปแบบของใบแบบฟอร์มส่งต่อผู้ป่วย เป็นแบบกระดาษ การโทรศัพท์ และโทรสาร เป็นต้น ทำให้บางครั้งการได้รับส่งข้อมูลการรักษาหรือการใช้ยาของผู้ป่วยไม่ครบถ้วนซึ่งเป็นอุปสรรคมากในการรักษา และยังส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งคาดว่าในอนาคตการส่งข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลหลังเปิด SEZ  ควรมีการเชื่อมโยงกันระหว่างฐานข้อมูลที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลทั้ง 2 ประเทศ หรือการนำระบบ Electronic Medical Records (EMR) เป็นการพัฒนาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่อำนวยความสะดวกเพื่อการแพทย์ ที่ดำเนินการโดยจัดเก็บเอกสารผู้ป่วยทั้งแฟ้มโดยการสแกนภาพลงบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ เช่น ซีดี หรือฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น และการบันทึกข้อมูลประวัติผู้ป่วยเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง เพื่อลดพื้นที่การจัดเก็บเอกสารและประโยชน์ในการสืบค้นนอกจากนี้ในปัจจุบันมีสื่อทาง Social Media ที่สามารถนำมาประยุกย์ใช้ในการรับส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วย เช่น Facebook ไลน์ และแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่จะทำให้ระบบการไหลของข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะอาจจะเปิดการสื่อสารระหว่างแพทย์ผู้รักษาโดยตรงจากทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ความถูกต้องของการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น

4. การไหลด้านเงิน (Financial)

การไหลของเงินด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณของแต่ละประเทศ การที่โรงพยาบาลไทยจะให้การช่วยเหลือเรื่องเงินกับโรงพยาบาลคู่แฝดเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังพอมีการช่วยเหลือด้านการเงินที่ไปยังโรงพยาบาลคู่แฝดที่อยู่ในรูปแบบตัวเงินที่จะเป็นสร้างเป็นอาคาร รถพยาบาล เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการักษา ซึ่งคาดว่าในอนาคตภายหลังการเปิด SEZ การไหลของเงินยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากภาระต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องรับในด้านสาธารณสุขยังมีอยู่มาก ทำให้การช่วยเหลือด้านเงินนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับฝั่งประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม แต่จะเป็นการช่วยเหลือที่อยู่ในรูปแบบการบริจาค จากคนในพื้นที่หรือจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เป็นต้น

5. ศักยภาพและความพร้อมของสถานบริการและด่านสาธารณสุข

5.1 จังหวัดกาญจนบุรี มีสถานพยาบาลอยู่ภายในจังหวัดทั้งหมด 15 แห่ง พบว่า สถานบริการสาธารณสุขในอำเภอที่เป็นที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา (S) แต่เนื่องจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนามีบริบทที่ให้บริการผู้ป่วยทั้งจังหวัด ดังนั้นการคิด capacity ทั้งจังหวัดจึงเหมาะสมมากกว่าการคิดแค่อำเภอที่อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในปี พ.ศ.2558มีจำนวนเตียงผู้ป่วยรวม 1,394 เตียง จำนวนเตียงICU 34 เตียง กำลังคนด้านสุขภาพสาขาแพทย์ 181คน สาขาทันตแพทย์ 65 คน สาขาเภสัชกร 92 คน พยาบาลวิชาชีพ 1,263 คนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 1,919.81 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 692.22 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายหลังการเปิดเขตเศษรฐกิจพิเศษในปีพ.ศ.2568 จะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 1376  เตียง จำนวนเตียงICU 137 เตียง และกำลังคนด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็นแพทย์ 367คน ทันตแพทย์ 105 คน เภสัชกร 148 คน พยาบาลวิชาชีพมีความต้องการอยู่ที่ 1,604 คน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3,553.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา1,243.70 ล้านบาท

5.2 จังหวัดเชียงราย มีสถานพยาบาลอยู่ภายในจังหวัดทั้งหมด 18 แห่ง พบว่า สถานบริการสาธารณสุขในอำเภอที่เป็นที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่สาย (M2) โรงพยาบาลเชียงของ (F1) และโรงพยาบาลเชียงแสน (F2)  ซึ่งในปี พ.ศ.2558 มีจำนวนเตียงผู้ป่วยรวม 225 เตียง กำลังคนด้านสุขภาพสาขาแพทย์ 24 คน สาขาทันตแพทย์ 16 คน สาขาเภสัชกร 22 คน พยาบาลวิชาชีพ 217 คนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 186.68 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 65.30 ล้านบาทซึ่งคาดว่าภายหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในปีพ.ศ.2568 จะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 278 เตียง จำนวนเตียงICU 28 เตียง กำลังคนด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็นแพทย์ 75 คน ทันตแพทย์ 22 คน เภสัชกร 30 คน พยาบาลวิชาชีพ 337 คน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 450.63 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 157.72 ล้านบาท

5.3 จังหวัดหนองคาย มีสถานพยาบาลอยู่ภายในจังหวัดทั้งหมด 9 แห่ง พบว่า สถานบริการสาธารณสุขในอำเภอที่เป็นที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลโพนพิสัย (F1) โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ (F2) และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ (M2)  ซึ่งในปี พ.ศ.2558มีจำนวนเตียงผู้ป่วยรวม 306  เตียง จำนวนเตียงICU8 เตียง กำลังคนด้านสุขภาพสาขาแพทย์ 31 คน สาขาทันตแพทย์ 12 คน สาขาเภสัชกร 18 คน พยาบาลวิชาชีพ 288 คนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 260.03 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา95.97 ล้านบาทซึ่งคาดว่าภายหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในปีพ.ศ.2568 จำนวนเตียงยังคงมีความเพียงพอต้องการรองรับอยู่ที่ 300เตียงจำนวนเตียงICU เพิ่มเป็น 31 เตียงกำลังคนด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็นแพทย์ 80คน ทันตแพทย์ 23 คน เภสัชกร 33 คน พยาบาลวิชาชีพ 364 คน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 512.81 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา179.48 ล้านบาท

5.4 จังหวัดสระแก้ว มีสถานพยาบาลอยู่ภายในจังหวัดทั้งหมด 9 แห่ง พบว่า สถานบริการสาธารณสุขในอำเภอที่เป็นที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวัฒนานคร (F2) และโรงพยาบาลอรัญประเทศ (M1)  ซึ่งในปี พ.ศ.2558 มีจำนวนเตียงผู้ป่วยรวม 228 เตียง จำนวนเตียงICU8 เตียง กำลังคนด้านสุขภาพสาขาแพทย์ 17 คน สาขาทันตแพทย์ 11 คน สาขาเภสัชกร 14 คน พยาบาลวิชาชีพ 180 คนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 202.96 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 74.46 ล้านบาทซึ่งคาดว่าภายหลังการเปิดเขตเศษรฐกิจพิเศษในปีพ.ศ2568 จะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 270 เตียง จำนวนเตียงICU27 เตียงกำลังคนด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็นแพทย์ 72 คน ทันตแพทย์ 21 คน เภสัชกร 30 คน พยาบาลวิชาชีพ 328คน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 394.77ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 138.17ล้านบาท

5.5 จังหวัดตราด มีสถานพยาบาลอยู่ภายในจังหวัดทั้งหมด 7 แห่ง พบว่า สถานบริการสาธารณสุขในอำเภอที่เป็นที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลคลองใหญ่ (F2) ซึ่งในปี พ.ศ.2558มีจำนวนเตียงผู้ป่วยรวม 33 เตียง กำลังคนด้านสุขภาพสาขาแพทย์ 4 คน สาขาทันตแพทย์ 2 คน สาขาเภสัชกร 3 คน พยาบาลวิชาชีพ 42 คนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 25.60 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 10.40 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายหลังการเปิดเขตเศษรฐกิจพิเศษในปีพ.ศ2568 จะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 48 เตียงจำนวนเตียงICU5 เตียงกำลังคนด้านสุขภาพจะเพิ่มเป็นแพทย์ 13 คน ทันตแพทย์ 4 คน เภสัชกร 6 คน พยาบาลวิชาชีพ 58 คน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 101.05 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านยา 35.37 ล้านบาท

กล่าวโดยสรุป ภายหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตพื้นที่ จังหวัดเชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย สระแก้ว และตราด ควรมีการวางแผนพัฒนายกระดับสถานบริการสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เช่น ยกระดับจาก รพช.ขนาดเล็ก เป็น รพช. ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ หรือการจัดสร้างสถานพยาบาลขึ้นมาใหม่ ฯลฯ ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพและวางแผนพัฒนาระบบบริการและเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดและข้ามจังหวัด หากเกิดปัญหารุนแรง เช่น โรคระบาดสารเคมีรั่วไหล ที่ไม่สามารถจัดการเฉพาะพื้นที่ได้และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญและเร่งรัดให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแนวทางที่สอดคล้องกับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน แต่การดำเนินงานของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนควรดำเนินการโดยมีมาตรการรองรับที่รัดกุมเพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นอีกมาก เช่น ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ปัญหาสถานะบุคคลการค้ามนุษย์ปัญหาความไม่ชัดเจนในระบบประกันสุขภาพ ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะและโดยเฉพาะปัญหาด้านสาธารสุขเป็นต้น มิฉะนั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนก็อาจกลายเป็นวิกฤตซึ่งซ้ำเติมปัญหาทางสังคมและสาธารณสุขที่มีอยู่เดิมให้รุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น

Researcher
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ
Agency
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า