แผนงานวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานและระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและแนวทางการริเริ่ม Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย
งานวิจัยโครงการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานและระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและแนวทางการริเริ่ม Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นโครงการวิจัยที่มีระยะเวลา 3 ปี โดยที่มาของการวิจัยเกิดจากคำถามวิจัยที่ว่ายาในประเทศไทยกระจายไปอยู่ที่ไหน (Track) ตรวจสอบย้อนกลับได้หรือไม่ (Traceability) รวบรวมข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างไร (Big Data) การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้นั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการพัฒนาระบบที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสุขภาพทั้งระบบ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศด้านยาและเวชภัณฑ์ได้ และเกิดเป็นโครงสร้างทั้งระบบ
โดยโครงการมีการดำเนินงานทั้งหมด 3 ระยะ ระยะละ 1 ปี ปัจจุบันโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นในระยะที่ 2 และกำลังจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 3 โดยผลการวิจัยในระยะที่ 2 มีดังนี้
- งานวิจัยโครงการการพัฒนาแผนแม่บทระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภาคสาธารณสุขของประเทศ ได้ข้อเสนอแนะและลำดับความสำคัญของการขับเคลื่อน eHealth ในองค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน คือการกำกับดูแล (Governance) การวางฐานราก (Foundations) การแก้ปัญหา (eHealth Solutions) และกิจกรรมขับเคลื่อน เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายสาธารณะด้านระบบสุขภาพ
- งานวิจัยพัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและจัดทำโปรแกรม บริหารและจัดทำข้อมูลยาสำหรับประชาชน (Patient Information Leaflet Management System : PILMS) ดำเนินการพัฒนา 3 ส่วนด้วยกัน
2.1. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ (National Medicinal Product Catalogue Database : NMPCD) ได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถสะสมทุกรหัสยาได้มากกว่า 150,000 รายการ และในระยะที่ 2 สามารถผูกสัมพันธ์ยาเพื่อการค้นหารหัสยาได้ทั้งสิ้น 11 คู่ เป็นจำนวนมากกว่า 50,000 รายการ
2.2. การพัฒนาฐานโปรแกรมบริหารและจัดทำข้อมูลยาสำหรับประชาชน ได้ดำเนินการเพิ่มเติมข้อมูลยาสำหรับประชาชนจากเดิมได้ทำการสะสมรหัสไว้ 200 รายการ ในระยะที่ 2 ได้ดำเนินการเพิ่มเติม 53 รายการ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 253 รายการ
2.3. โปรแกรมบริหารจัดการร้านยาได้พัฒนาเป็นโปรแกรมที่มีระบบการจัดการคลังสินค้าทั้งส่วนหน้าร้านและหลังร้าน โดยรองรับการจัดซื้อ การจัดการซัพพลายเออร์ การจัดการสินค้า การจัดตารางเวร และการจัดการผู้ใช้
- การพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า the Material Management Information System (MMIS) ซึ่งจะช่วยทำให้การจัดการด้านโลจิสติกส์ยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ดำเนินการขยายผลผู้ใช้ โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 18 แห่ง จัดทำคู่มือการใช้งาน MMIS และดำเนินการจัดทำมาตรฐานซอฟแวร์การบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์
- ดำเนินการพัฒนาระบบต้นแบบสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ระหว่างโรงพยาบาลและผู้จัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยในการติดต่อซื้อขายระหว่างโรงพยาบาลกับผู้จัดจำหน่ายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
- ระบบต้นแบบการติดตามและสอบกลับยาและเวชภัณฑ์ (Traceability) ที่ติดตามและสอบกลับได้ในระดับล็อตการผลิตจนถึงผู้ป่วยทั้งในระดับประเทศและจังหวัด
ส่วนในระยะที่ 3 ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบ ดังนี้
1) การพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงลึกด้านยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ทางยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (Business Intelligence: BI)
2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานมากยิ่งขึ้น
3) พัฒนาระบบเชื่อมต่อโปรแกรมการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ (Material Management Information System: MMIS) กับระบบ BI
4) ศึกษาวิจัยและออกแบบเพื่อพัฒนาระบบการจัดการคลังยาของโรงพยาบาลโดยผู้จัดจำหน่ายผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านสาธารณสุข
ผลสำเร็จจากการวิจัยจะส่งผลต่อระดับประเทศและหลายภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการนำระบบไปใช้ ดังนี้
- โรงพยาบาล
– ทำให้เกิดการลดขั้นตอนในการทำงานมากขึ้น
– ช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน เนื่องจากมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
– สามารถดึงข้อมูลการจัดการยาและเวชภัณฑ์ มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ได้หลากหลาย เช่น การกระจายตัวของยาและเวชภัณฑ์ การวางแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการของโรงพยาบาล เป็นต้น
- ผู้ปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาล
-ช่วยบริหารงานคงคลังและระบบจัดซื้อในโรงพยาบาลได้
- กระทรวงสาธารณสุข
-ได้รับข้อมูลที่แต่ละโรงพยาบาลต้องนำส่งรายงานสู่ส่วนกลางอย่างถูกต้อง และน่าเชื่อถือ ทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงได้อีกด้วย
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น
-ได้ระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ในการใช้งาน ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการแปลงรหัสยาจากรหัสใดรหัสหนึ่ง เป็นรหัสหนึ่ง เนื่องจากเมื่อป้อนรหัสใดๆเข้าไปแล้วจะปรากฏรหัสยาที่ต้องการ และสามารถนำไปใช้งานได้ทันที
– สามารถติดตามตรวจสอบการเคลื่อนไหวของยาและเวชภัณฑ์ จากฐานข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์และดำเนินการในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาสาธารณสุขต่อไป
- ภาคเอกชนที่จัดหน่ายสินค้ายาและเวชภัณฑ์
– การจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลสามารถทำได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น