โครงการระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาเพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19
เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคในสถานการณ์วิกฤติ ในปัจจุบันมีหลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวแทนในการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการจัดหาของบริจาคต่างๆ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่มีการจัดสรรเวชภัณฑ์เหล่านี้ไปให้กับโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ แต่ด้วยระบบการบริหารจัดการในปัจจุบันทั้งการจัดซื้อจากภาครัฐและการรับบริจาคตัวสินค้ายังไม่รวมเป็นระบบเดียวกันและแยกการกระจายไปยังโรงพยาบาลหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก่อให้เกิดการไม่รวมศูนย์และยังไม่มีระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลการกระจายเวชภัณฑ์ที่เห็นระบบทั้งประเทศได้ ส่งผลให้เกิดการกระจายอย่างไม่ทั่วถึง โรงพยาบาลอาจได้รับเวชภัณฑ์ที่ตรงหรือไม่ตรงตามสถานการณ์ของโรคระบาดในพื้นที่ อีกทั้งปัจจัยต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ขนาดของโรงพยาบาล จำนวนผู้ป่วย ต่างก็มีผลต่อการจัดสรรเวชภัณฑ์ทั้งสิ้น
นักวิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดสรรและกระจายเวชภัณฑ์สำหรับสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, บริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ในการจัดทำระบบ Platform กลางเพื่อใช้ในการจัดสรรและกระจายเวชภัณฑ์ โดยมีแนวความคิดว่าการจัดสรรเวชภัณฑ์ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรพิจารณาความต้องการจริงของโรงพยาบาลทั้ง ชนิด รุ่น สเปคของเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา จำนวนผู้ป่วย หรือสถานการณ์ของโรงพยาบาล รวมถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งความต้องการเหล่านี้สถานการณ์ของโรงพยาบาลจะเป็นตัวกำหนดว่าต้องการเวชภัณฑ์ชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ ฉะนั้นจึงทำให้เกิดการพัฒนา Platform ของการจัดการโลจิสติกส์การกระจายเวชภัณฑ์สำหรับสถานการณ์วิกฤตินี้ขึ้น
จากการวิเคราะห์ของทีมวิจัย พบว่าในสถานการณ์เช่นนี้การจัดสรรหรือการจัดการของบริจาคไม่สามารถทำได้เพียงแค่สร้าง Platform ให้ผู้ให้พบผู้รับ หากต้องคำนึงถึงประเภทของ Supply และชนิดของ Demand ตามสถานการณ์จริง ทางทีมวิจัยจึงพิจารณาทั้งระบบ Supply Chain และ Logistics ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจัดส่ง เพื่อให้เกิดการดำเนินการครบวงจร จึงได้พัฒนา Platform ซึ่งประกอบด้วย 6 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบการป้อนข้อมูลของ Supply (Web Page) และระบบการรับของเข้าสต๊อก 2. ระบบฐานข้อมูลรายการเวชภัณฑ์มิใช่ยา (Product Catalogue Database) 3. ระบบสต๊อก (Virtual Stock) 4. ระบบวิเคราะห์จับคู่ระหว่างความต้องการและสต๊อก (Matching System) 5. ระบบจัดการความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) และ 6. ระบบติดตามการจัดส่ง (Tracking)
หลักการทำงานของระบบจะเริ่มจากการรับข้อมูลรายการสินค้า (Supply) ที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางหรือของบริจาคเข้ามาหน้าเว็บไซด์ ตามรายการสินค้าในระบบฐานข้อมูล (Product Catalogue Database) การจัดสรรมีหลักการพิจารณาจากความต้องการเร่งด่วนและปัจจัยต่างๆ ของการระบาด และสถานการณ์โรงพยาบาลเอง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจได้ว่าการจัดสรรจากงบส่วนกลางหรือของบริจาคจะไปสู่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนและตรงกับความต้องการตามสถานการณ์จริง ข้อมูลจะไหลเข้าระบบสต๊อก (Virtual Stock) ระบบจะวิเคราะห์และจัดสรรสต๊อก กับความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) ความต้องการของโรงพยาบาลในระบบนี้ มาจากข้อมูลที่โรงพยาบาลกรอกเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นนำมาผ่าน Logarithm ในการ Match โดยพิจารณาถึงจำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณที่มีอยู่ และอัตราการใช้ ระดับความรุนแรง เป็นต้น จากนั้นเมื่อประมวลผลเสร็จสิ้น จะทาให้ได้ใบรายการที่ต้องจัดสรรทั้งหมด ว่าต้องจัดสรรอะไร กระจายไปที่ใด จำนวนเท่าไร
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังระบบติดตามการจัดส่ง (Tracking) โดยเชื่อมกับระบบบริหารจัดการของบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด โดยไปรษณีย์จะเป็นผู้ไปรับสินค้าตามสถานที่ที่ระบุในใบงานและขนส่งไปยังโรงพยาบาล และเมื่อเวชภัณฑ์ได้กระจายไปถึงโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย ระบบจะบันทึกและส่งข้อมูล Feedback ให้กับต้นทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามสถานะการขนส่งผ่านระบบได้อีกด้วย
ด้วย Platform Smart Med Supply ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องโรงพยาบาลได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามความต้องการ หรือแม้กระทั่งการกระจุกตัวของสินค้า และระบบยังช่วยทำให้สินค้าไม่ต้องขนส่งเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อบริหารจัดการการขนส่งและกระจายสินค้าอีกครั้ง ส่งผลให้สินค้าสามารถไปถึงโรงพยาบาลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้บริจาคหรือหน่วยงานส่วนกลางและโรงพยาบาลยังสามารถตรวจสอบได้ว่าในระบบมีสินค้าอะไร กำลังกระจายไปที่ไหน และคงเหลืออีกเท่าไหร่ เพื่อให้สินค้าสามารถไปถึงโรงพยาบาลที่มีความต้องการตามคุณภาพและความต้องการจริงอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ข้อมูลจะมีการรวมศูนย์ ทำการประมวลผล แสดงสถานการณ์ของประเทศได้ รวมถึงช่วยในการวางแผนการผลิตและจัดซื้อในอนาคตได้
Platform ระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์นี้ สามารถรองรับและประยุกต์กับสถานการณ์วิกฤติ สถานการณ์โรคระบาด หรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้ Platform นี้ ไม่เพียงแต่ให้บริการในสถานการณ์เช่นนี้เท่านั้น ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การซื้อขายใดๆได้ หรือในอนาคตหากรัฐมีนโยบายร่วมซื้อของโรงพยาบาล จะเป็นการประหยัดต้นทุน การจัดเก็บ การขนส่ง การจัดการออร์เดอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีต้นทุนของระบบสาธารณสุขทั้งยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาลดลงได้และมีประสิทธิภาพทั้ง Supply Chain