โครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาลชุมชน
โรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและรับผิดชอบพื้นที่ในระดับอำเภอมีขีดความสามารถระดับปฐมภูมิ (Primary Care) และระดับทุติยภูมิ (Secondary Care) ประชาชนสามารถเดินทางเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกโรงพยาบาลชุมชนจึงเป็นระบบการให้บริการสาธารณสุขด่านแรกที่มีความใกล้ชิดและมีส่วนร่วมกับชุมชนมากเป็นกลไกและยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ(ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2557; ศูนย์มาตรฐานรหัสและข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ, 2554)
โครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนทำการประเมินออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมหภาค และระดับปฏิบัติการในระดับมหภาคจะประเมินความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์สุขภาพ (Healthcare logistics) ของประเทศ 5 ระบบตามโครงการการพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2556 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดย 5 ระบบ มีดังนี้
1) ระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์
2) ระบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์
3) ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
4) ระบบติดตามและสอบย้อนกลับยาและเวชภัณฑ์
5) ระบบศูนย์ข้อมูลยาและเวชภัณฑ์
ส่วนระดับปฏิบัติการจะเป็นการอบรมทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล 4 ภูมิภาค และ
เก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับโรงพยาบาลที่คัดเลือกจาก 4 ภูมิภาค จากนั้นวิเคราะห์ปัญหาโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไข ผลการอบรมได้ข้อสรุปว่าการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้นั้น โรงพยาบาลเองต้องมีความตระหนักถึงปัญหาของระบบโลจิสติกส์และต้องประเมินระบบโลจิสติกส์ด้วยตนเอง แต่เนื่องจากโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ยังไม่มีใครเคยศึกษาอย่างจริงจัง โครงการวิจัยนี้จึงจะลงพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนกรณีศึกษา จำนวนทั้งหมด 20 โรงพยาบาล โดยลงพื้นที่สำรวจระบบการจัดการโลจิสติกส์สุขภาพ (Healthcare Logistics) และเก็บข้อมูลในลักษณะ Exploratory interview แล้วนำผลการสำรวจมาพัฒนาแบบประเมินสุขภาพของระบบโลจิสติกส์ระดับโรงพยาบาลชุมชนที่ เป็นการประเมินอย่างเป็นระบบ มีวัตถุประสงค์ในการประเมินชัดเจน และมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ทราบปัญหา และวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา สามารถกำหนดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาลชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อความต้องการการรับบริการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น แบ่งการประเมินระดับความพร้อม 7 ด้านของโรงพยาบาลตนเองได้ ดังนี้
(1) ด้านองค์กรและบุคลากร (Organization and staffing)
(2) ด้านระบบสารสนเทศการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management information system)
(3) ด้านการพยากรณ์ (Forecasting)
(4) ด้านพัสดุที่ได้รับและการจัดหา (Obtaining supplies and procurement)
(5) ด้านกระบวนการควบคุมสินค้าคงคลัง (Inventory control processes)
(6) ด้านการคลังสินค้าและการเก็บรักษา (Warehousing and storage)
(7) ด้านการขนส่งและการกระจายสินค้า (Transportation and distribution)
โดยจะศึกษาใน 2 มิติ คือ มิติการจัดการกระบวนการ (Operation management) และมิติการจัดการสารสนเทศ (Information management) หลังจากที่ผู้ประเมินได้ประเมินตนเองตามแบบประเมินดังข้างต้นแล้ว ผู้ประเมินจะทราบระดับความสามารถทางระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนและสามารถวิเคราะห์ผลการประเมิน เพื่อหาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนในการนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ซึ่งผู้ประเมินสามารถวิเคราะห์ได้จากเกณฑ์การประเมินในแบบประเมิน