แผนงานต้นแบบระบบการบริหารจัดการสารสนเทศของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค
ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมยาและอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับประทานเข้าสู่ร่างกาย มีผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตโดยตรง ดังนั้นในกระบวนการโลจิสติกส์ของยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน พบว่ายาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทานเข้าไป ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่ายานั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลกลางที่รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารครอบคลุมข้อมูลตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานและประชาชนทั่วไป และมีความทันสมัย รองรับการตรวจสอบที่มาของยาและการเรียกคืนยาที่มีปัญหาได้ ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดศักยภาพในการจัดการสารสนเทศของยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย (โครงการพัฒนาฐานข้อมูลยาระดับชาติและระบบสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เพื่อการเชื่อมโยงของข้อมูลในโซ่อุปทานสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน, 2554; โครงการการสอบกลับข้อมูลเพื่อการจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานยาอย่างมีประสิทธิภาพ, 2556)
ระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีฐานข้อมูลกลางที่รวบรวมข้อมูลของผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ครบตามความต้องการของทุก Stakeholder โดยก่อนหน้านี้ มีการศึกษา 5 โครงการวิจัยเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขของประเทศ ตามโครงการวางระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2556-2557 ได้แก่
- โครงการรหัสยามาตรฐาน: รูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลยาที่มีประสิทธิภาพในโซ่อุปทานสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของผู้เข้ารับบริการสาธารณสุข (ดวงพรรณ และคณะ, 2556b)
- โครงการออกแบบสถาปัตยกรรมทางธุรกิจและการวัดสมรรถนะแบบบูรณาการสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย (ดวงพรรณ, 2556c)
- โครงการพัฒนาฐานข้อมูลยาระดับชาติและระบบสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เพื่อการเชื่อมโยงของข้อมูลในโซ่อุปทานสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน (จิรพรรณ และคณะ, 2554)
- โครงการการประยุกต์และพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสำหรับโรงพยาบาลกรณีศึกษา (ดวงพรรณ และคณะ, 2554)
- โครงการการพัฒนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในโซ่อุปทานสุขภาพ (ดวงพรรณ และคณะ, 2556a)
ผลการศึกษาโครงการวิจัยทั้ง 5 ระบบข้างต้น ช่วยให้ทั้งระบบทั้งในระดับประเทศและระบบสถานบริการสุขภาพมีระบบในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ในโซ่อุปทานสาธารณสุขเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน รวมถึงการมีระบบฐานข้อมูลสำหรับยาในระดับชาติและการมีระบบสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการมีต้นแบบระบบการติดตามและสอบกลับยาและเวชภัณฑ์ เป็นการยกระดับความปลอดภัยของประชาชนในประเทศไทยในด้านการใช้ยาให้ดียิ่งขึ้น