โครงการการศึกษาข้อมูลระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นมหานครแห่งเอเชีย
ประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเริ่มจากเมืองหลวง นั่นคือ กรุงเทพมหานคร กระจายไปยังเขตจังหวัดปริมณฑล รวมไปถึงหัวเมืองหลักต่างๆ ตามภูมิภาค ซึ่งนับว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ ปัจจัยทางด้านต้นทุนโลจิสติกส์ โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้ายังคงเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุด สาเหตุหลักมาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงขาดการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตจังหวัดปริมณฑลมีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบกับปัญหาจราจรภายในเขตเมืองในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านพื้นที่การค้า ได้แก่ ประตูน้ำ โบ๊เบ๊ สำเพ็ง จัตุจักร และอื่นๆบริเวณภายในเมือง
จากปัญหาดังกล่าวคณะวิจัยได้ทำการศึกษาโครงการระยะที่ 1 โดยศึกษาข้อมูลระบบโลจิสติกส์กระบวนการไหลของสินค้า โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง และข้อมูลหมวดสินค้าที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงประเมินสภาพปัจจุบันและแนวโน้มในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในเขตเมืองในอนาคต ผลการศึกษาในระยะที่ 1 สามารถสรุปผลได้ว่าแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างระบบโลจิสติกส์พื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่สำคัญ คือ ควรมีการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (City Distribution Centre: CDC) และศูนย์กระจายสินค้าย่อยในเขตเมือง
ในโครงการระยะที่ 2 คณะวิจัยจึงได้นำความรู้และสิ่งที่ค้นพบดังกล่าวมาต่อยอดแนวคิดของการทำให้เกิดศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า CDC เป็นการสร้างระบบเครือข่ายใหม่ในโซ่อุปทานการขนส่งในเขตเมืองและปริมณฑลได้ โดย CDC จะทำหน้าที่รวบรวมและกระจายสินค้าภายในพื้นที่ทำให้สามารถลดการขนส่งเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น เกิดการร่วมขนของผู้ประกอบการ ทำให้ลดจำนวนเที่ยวรถในการขนส่ง ลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า ส่งผลให้ลดปัญหาจราจรและมลพิษที่เกิดจากการขนส่งลงได้ นอกจากนี้ CDC ที่มีขนาดเล็กในเมืองยังสามารถใช้รองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของโลจิสติกส์ E-Commerce และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างชาติได้ และสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การพิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้ง CDC
โดยพื้นที่ศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในครั้งนี้ คณะวิจัยได้อ้างอิงมาจากรายงานโครงการจัดทำแผนแม่บทและมาตรการทางผังเมืองที่เหมาะสมสำหรับระบบการจัดการโลจิสติกส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับการลงสำรวจพื้นที่ในบางจุดทำให้พบพื้นที่ทางเลือกอีก 2 แห่งคือ คลังสินค้าไปรษณีย์บางนาและพื้นที่ประตูน้ำท้ายซอยเพชรบุรี 15 ดังนั้น พื้นที่ศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับ CDC ในครั้งนี้ มีทั้งหมด 15 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าเรือกรุงเทพ 2) สถานีแม่น้ำ 3) ศูนย์พหลโยธิน 4) ศูนย์มักกะสัน 5) ที่ดินติดถนนหัวหมาก 6) ที่ดินพระราม 9 7) ที่ดินติดทางพิเศษรามอินทราและศรีรัช 8) พื้นที่ใต้ทางด่วนลาดพร้าว 9) แยกคลองตัน 10) ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่-แจ้งวัฒนะ 11) ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมากอ่อนนุช 28 12) ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมากบดินทรเดชา 13) ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพมหานคร-หัวลำโพง 14) คลังสินค้าไปรษณีย์บางนา และ 15) พื้นที่ประตูน้ำท้ายซอยเพชรบุรี 15
ผลการศึกษาที่ได้ สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่ศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับใช้จัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าภายในเขตเมือง ภายใต้การศึกษาข้อมูลด้านปริมาณความต้องการของสินค้า (Demand) ที่ส่งผลต่อปริมาณการขนส่งที่หนาแน่น และการกำหนดปัจจัยหรือเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการขนส่ง รวมถึงการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ ทำให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพที่เหมาะสม 3 อันดับแรก นั่นคือ พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่
- พื้นที่บริเวณ เพชรบุรี ซอย 15 (ฝั่งพญาไท)
- พื้นที่บริเวณพหลโยธิน (ระหว่างโซน A – B – C – E) 1
- พื้นที่บริเวณมักกะสัน (ระหว่างโซน A – B – C – D – E) 1
โดยพื้นที่สำหรับใช้จัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าควรมีขนาดประมาณ 2-10 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานีในการรวบรวมและกระจายสินค้า และใช้เป็นพื้นที่สนับสนุนกิจกรรมทางโลจิสติกส์ต่างๆ ได้แก่ โหลด จัดเรียง คัดแยก และขนถ่าย เป็นต้น และสามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 50-60 คันต่อเที่ยว
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผลงานวิจัย จึงเป็นที่มาของการนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดการเลือกใช้พื้นที่ในโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณรางรถไฟให้เกิดประโยชน์สูงสุด
————-
1 อ้างอิงจากเอกสารนำเสนอของฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย